กระต่าย (อังกฤษ: Hare, Rabbit) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับกระต่าย (Lagomorpha) ในวงศ์ Leporidae
กระต่ายแม้จะมีฟันแทะเหมือนกับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) แต่ถูกจัดออกมาเป็นอันดับต่างหาก เนื่องมีจำนวนฟันที่ไม่เท่ากัน เพราะกระต่ายมีฟันแทะที่ขากรรไกรบน 2 แถว เรียงซ้อนกันแถวละ 2 ซี่ ฟันกรามบนข้างละ 6 ซี่ และฟันกรามล่างข้างละ 5 ซี่ เมื่อเวลาเคี้ยวอาหาร กระต่ายจะใช้ฟันทั้ง 2 ด้านเคี้ยวสลับกันไป ต่างจากสัตว์ฟันแทะโดยทั่วไปที่เคี้ยวเคลื่อนหน้าเคลื่อนหลัง ซึ่งสามารถเขียนเป็นสูตรได้ว่า
กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก มีขนปุกปุยทั่วลำตัว มีหางกลมสั้น มีใบหูยาวเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น ซึ่งวิวัฒนาการมาใช้สำหรับฟังเสียงได้เป็นอย่างดี และยังมีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นที่ดีมาก กระต่ายมีขาหน้าที่มี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีสะโพกที่ยาวและทรงพลัง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ จึงสามารถกระโดดได้เป็นอย่างดี ใต้ฝ่าเท้ามีขนนุ่ม ๆ รองรับอยู่ เพื่อมิให้เกิดเสียงเมื่อเคลื่อนไหว เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่ายและมีความว่องไวปราดเปรียวมากในการระแวดระวังภัย นอกจากนี้แล้วตาของกระต่ายยังมีหนังตาหรือเปลือกตาถึง 3 ชั้นด้วยกัน[1]
กระต่ายเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น ต่างจากสัตว์ฟันแทะที่กินได้ทั้งเนื้อและพืช อาหารของกระต่ายได้แก่ หญ้าและพืชผักชนิดต่าง ๆ อายุขัยโดยเฉลี่ยของกระต่ายจะอยู่ที่ 2-3 ปี นับเป็นสัตว์ที่สืบพันธุ์เร็วมาก โดยปีหนึ่ง ๆ กระต่ายสามารถออกลูกได้ถึง 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 ตัว กระต่ายในธรรมชาติ มักอาศัยอยู่ในที่ราบโล่งที่เป็นทุ่งหญ้ามากกว่าป่าทึบ โดยขุดโพรงใต้ดินเป็นรังและที่อยู่อาศัย ลูกกระต่ายป่าในธรรมชาติ เมื่อแรกเกิดจะลืมตา และในวันรุ่งขึ้นก็สามารถวิ่งและกระโดดได้เลย เมื่อกระต่ายตัวเมียจะคลอดลูก จะแยกออกจากรังเดิมไปขุดรังใหม่ เพื่อป้องกันลูกอ่อนจากกระต่ายตัวผู้ ซึ่งอาจฆ่าลูกกระต่ายเกิดใหม่ได้ โดยจะกัดขนตัวเองเพื่อปูรองรับลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา
กระต่ายกระจายพันธุ์ไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งเขตอาร์กติก ยกเว้นโอเชียเนียและทวีปออสเตรเลีย แบ่งออกได้เป็น 11 สกุล (ดูในตาราง) [2] ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียว คือ กระต่ายป่า(Lepus peguensis)
กระต่ายโดยธรรมชาติ เป็นสัตว์ที่อยู่สุดปลายของห่วงโซ่อาหาร ด้วยเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อชนิดต่าง ๆ เช่น หมาป่า, หมาจิ้งจอก, แมวป่า, เสือชนิดต่าง ๆ, หมาใน, ชะมด, เพียงพอน รวมถึงงูขนาดใหญ่ด้วย เช่น งูหลามและงูเหลือม [3] กระต่ายเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์มาเป็นเวลานาน ด้วยการเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารและเกมกีฬาโดยเฉพาะในแถบทวีปยุโรป ในเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อ ชาวตะวันตกเชื่อว่า การพกขากระต่ายจะนำมาซึ่งโชคดี ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า กระต่ายเป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ มีหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ เป็นสัตว์เลี้ยงของฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ การมอบรูปลักษณ์ของกระต่ายจึงถือเป็นการมอบความปรารถนาให้โชควาสนาให้แก่กัน[4]
นอกจากนี้แล้วในทางโหราศาสตร์ กระต่ายยังเป็นตัวแทนของนักษัตรลำดับที่ 4 คือ ปีเถาะ ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นกระต่าย [5]
ในปัจจุบัน กระต่ายได้กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ทั้งในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม และสัตว์เศรษฐกิจเพื่อรับประทานเนื้อ โดยกระต่ายชนิดที่นำมาพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นสัตว์เลี้ยงนั้น โดยมากจะเป็นชนิด กระต่ายยุโรป (Oryctolagus cuniculus) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปยุโรป[6] ซึ่งกระต่ายสายพันธุ์สวยงามนั้นก็มีด้วยกันหลากหลายมากมาย โดนยมีขนาดแตกต่างกันออกไปตามขนาดลำตัว อาทิ เนเธอร์แลนด์ดวอฟ, โปลิช แรทบิท, ฮอลแลนด์ลอป ซึ่งเป็นกระต่ายขนาดเล็ก และอิงลิชลอป ที่เป็นกระต่ายขนาดใหญ่ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น